วันเสาร์ที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

ปลุกตำนานโมโตโรล่า



หลังจากโมโตโรล่าปิดกิจการในส่วนธุรกิจโทรศัพท์มือถือในประเทศไทยมาเกือบ 2 ปี ข่าวคราวบริษัทแห่งนี้เหมือนจะเงียบหายไปด้วยเช่นกัน แต่หลังจากโมโตโรล่าบริษัทแม่ในสหรัฐอเมริกาปรับโครงสร้างใหม่และจะเริ่มใช้ในต้นเดือนมกราคม ทำให้โมโตโรล่าในเมืองไทยกลับมาเล่าเรื่องราวใหม่ๆ อีกครั้ง

 ในงานเปิดตัวเล็กๆ ของกลุ่มธุรกิจโมโตโรล่า โซลูชั่นส์ บริษัท โมโตโรล่า (ประเทศไทย) จำกัด เมื่อปลายปี 2552 เพื่อแนะนำพอร์ตโฟลิโอโมบายล์ คอมพิวเตอร์ อีดีเอ 2 รุ่น ES 400 และ MC 65 ในตลาด ไทย เป็นการแสดงให้เห็นถึงความเคลื่อน ไหวของกลุ่มโมโตโรล่าอีกครั้ง หลังจากที่ผ่านมาจะทำตลาดแบบเงียบๆ







หากย้อนอดีตไปไกลเกือบ 20 ปี บริษัท โมโตโรล่าในประเทศไทยมีชื่อเสียงในฐานะผู้ผลิตและจำหน่ายอุปกรณ์เครือข่ายโทรคมนาคมและโทรศัพท์มือถือ โดยเฉพาะตลาดโทรศัพท์มือถือโมโตโรล่าครองแชมป์อันดับหนึ่งเกือบ 10 ปี เพราะมีกลุ่มบริษัท ยูไนเต็ดคอมมูนิเกชั่น อินดัสตรี จำกัด (มหาชน) หรือยูคอม และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทคเป็นผู้จำหน่ายหลัก

ตอนนั้นราวปี 2535-2536 โทรศัพท์ มือถือมีราคาเครื่องประมาณ 1 แสนบาท หรือที่รู้จักและเรียกกันว่า “รุ่นกระติกน้ำ” เพราะมีรูปลักษณ์ขนาดใหญ่ น้ำหนักมาก หากใครไม่ใช่ระดับเศรษฐีก็มีโอกาสยากจะได้ครอบครอง แต่เมื่อเวลาผ่านไปโทรศัพท์มือถือยี่ห้อโนเกียจากประเทศฟินแลนด์ก็เข้ามาเบียดตลาดโมโตโรล่า และคว้าแชมป์ไปครองมาจนทุกวันนี้ ในขณะที่โมโตโรล่ายอดขายเริ่มลดลงเรื่อยๆ







สาเหตุหนึ่งที่ทำให้โมโตโรล่ามียอดขายน้อยลง อาจเป็นเพราะว่าโทรศัพท์มือถือ มีแหล่งผลิตใหญ่จากประเทศจีนที่มีต้นทุนการผลิตต่ำเนื่องจากค่าจ้างแรงงานถูก จึงทำให้ราคาโทรศัพท์มือถือจากราคาที่ขายในระดับหนึ่งแสนบาท ลดลงมาเหลือไม่กี่หมื่น บาทในเวลาอันสั้น และปัจจุบันโทรศัพท์มือถือบางรุ่นมีราคาไม่ถึงหนึ่งพันบาท จึงทำให้โมโตโรล่าไม่คิดจะร่วมแข่งขันในตลาดที่มีกำไรน้อย


กลุ่มโมโตโรล่าจึงมีแนวคิดจะขายกิจการในส่วนกลุ่มธุรกิจโมบิลิตี้และโทรศัพท์มือถือก็อยู่ในธุรกิจนี้ เพราะโมโตโรล่ามองเห็นว่ากำไรจากโทรศัพท์มือถือลดน้อยลง แต่การแข่งขันจะเพิ่มสูงขึ้น ปัจจุบัน ธุรกิจนี้ก็ยังไม่มีนักลงทุนใดสนใจซื้อ

แต่โมโตโรล่าได้ตัดสินใจปิดธุรกิจในส่วนของโทรศัพท์มือถือในประเทศไทยไปเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา ส่วนธุรกิจด้านเครือข่าย กลุ่มเทเลคอมได้ขายให้กับกลุ่มซีเมนส์ ประเทศเยอรมนี และย้ายพนักงานส่วนนี้เข้าไปทำงานในบริษัทซีเมนส์ด้วย

หลังจากที่บริษัท โมโตโรล่า (ประเทศ ไทย) ได้ปิดธุรกิจส่วนของโทรศัพท์มือถือส่งผลให้ผลประกอบการของบริษัทกลับมีกำไรอีกครั้ง โดยเฉพาะการขายอุปกรณ์สื่อสารให้กับภาครัฐและองค์กรธุรกิจ





แม้ธุรกิจโทรศัพท์มือถือจะปิดกิจการไปแล้วก็ตาม แต่โทรศัพท์มือถือโมโตโรล่ายังมีจำหน่ายในตลาดประเทศไทยประปราย โดยมีตัวแทนจำหน่ายหลักคือ บริษัท เจมาร์ท จำกัด (มหาชน) ที่มีร้านค้าจำหน่ายโทรศัพท์มือถือกว่า 210 แห่ง

























ทว่าปัจจุบันบริษัท เจมาร์ทได้หยุดขายโทรศัพท์มือถือโมโตโรล่าชั่วคราว เพราะ เห็นว่าคุณสมบัติของโทรศัพท์โมโตโรล่ารุ่นใหม่ๆ ไม่เหมาะสมจะใช้ในประเทศไทย และสิ่งที่เจมาร์ทเป็นห่วงก็คือบริการหลังการขาย เนื่องจากการซื้อขายโทรศัพท์ของเจมาร์ทต้องติดต่อกับโมโตโรล่าในประเทศ สิงคโปร์โดยตรง เพราะสิงคโปร์มีหน้าที่ดูแลตลาดไทย จึงดูเหมือนว่าทุกอย่างมีกระบวนการขั้นตอนลำบากและยุ่งยาก

ปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น แต่โมโต โรล่าได้ตัดสินใจปรับโครงสร้างครั้งใหม่ของกรุ๊ปทั้งหมด หลังจากสหรัฐอเมริกาประสบ ปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจอย่างหนักในปี 2551

โครงสร้างใหม่จะยังมี 2 กลุ่ม คือ กลุ่มธุรกิจโมโตโรล่าโซลูชั่นส์ และกลุ่มธุรกิจโมบิลิตี้ แต่จากนี้ไปบริษัทจะให้ความสำคัญและมุ่งเน้นทำธุรกิจกลุ่มโมโตโรล่า โซลูชั่นส์ เป็นหลัก

กลุ่มโครงสร้างธุรกิจใหม่เรียกว่า Enterprise Mobility Solutions หรือ EMS โดยมีกลุ่มย่อย 4 กลุ่มคือ กลุ่ม System Radio กลุ่ม PCR ว็อกกี้ ท็อกกี้ กลุ่ม Wireless Network กลุ่ม EMB หรือ Enterprise Mobility Business

จากเดิมได้แบ่งกลุ่มธุรกิจออกเป็น 4 กลุ่มคือ กลุ่มโมบายล์ กลุ่ม home & network กลุ่ม Government & Public Safety Business และกลุ่ม EMB หรือ Enterprise Mobility Business

จะเห็นได้ว่าโครงสร้างใหม่ของโมโตโรล่าได้ผนวกกลุ่มธุรกิจที่มีอยู่ทั้งหมดเข้าด้วยกัน และตัดธุรกิจที่ไม่สร้างกำไรออกไป เช่น ธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่

สำหรับโครงสร้างใหม่ของกลุ่มบริษัท โมโตโรล่าจะเริ่มใช้อย่างเป็นทางการตั้งแต่ต้นปี 2554 พร้อมกันทุกประเทศทั่วโลก

ศิวัจน์ โรจนศักดิ์ ผู้จัดการฝ่ายขาย ประจำประเทศไทยและอินโดจีน บริษัท โมโตโรล่า (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ภาพลักษณ์ของโมโตโรล่าคือการทำงานให้กับกองทัพสหรัฐฯ และรับใช้สังคม

เขาหมายถึงธุรกิจของโมโตโรล่าเริ่มต้นจากการผลิตอุปกรณ์สื่อสารให้กับกองทัพสหรัฐฯ การหวนกลับไปเริ่มต้นธุรกิจดั้งเดิมในฐานะผู้ผลิตอุปกรณ์เทคโนโลยีสื่อสาร เป็นจุดแข็งของโมโตโรล่ามาตั้งแต่แรก และการมุ่งจำหน่ายสินค้าเป็นโซลูชั่น ทำให้ภาพของโมโตโรล่าเด่นชัดมากขึ้น

จุดเด่นของโมโตโรล่าอีกอย่างหนึ่งการมีศูนย์วิจัยและพัฒนากระจายอยู่ทั่วโลก 6 แห่ง คือ สหรัฐอเมริกา อิสราเอล โปแลนด์ อินเดีย จีน มาเลเซีย และมีโรงงานอยู่ 4 แห่ง คือ เม็กซิโก สหรัฐอเมริกา เยอรมนี และมาเลเซีย ทั้งศูนย์วิจัยและโรงงานทั้งหมดจะยังเป็นฐานธุรกิจของโมโตโรล่าในอนาคต

ผลิตภัณฑ์ของโมโตโรล่าจะเน้นอุปกรณ์สื่อสารฮาร์ดแวร์ที่ผสมผสานซอฟต์แวร์ให้สามารถทำงานด้วยกันได้ในผลิตภัณฑ์เดียวกัน จึงทำให้โมโตโรล่าเสนอจุดเด่นว่าเป็นสินค้าแข็งแรงทนทาน ในขณะที่ซอฟต์แวร์สามารถรองรับระบบการทำงานได้หลากหลาย ดังนั้นสินค้าของโมโต โรล่าจึงเน้นไปยังกลุ่มเป้าหมายภาครัฐและองค์กรธุรกิจ

เหมือนดังเช่น บริษัท โมโตโรล่า (ประเทศไทย) จำกัด ได้เปิดตัวโมบายล์ คอมพิวเตอร์อีดีเอ รุ่น ES 400 และ MC 65 เช่น โมบายล์ คอมพิวเตอร์ รุ่น MC 65 เป็นอุปกรณ์ที่ใช้เป็นทั้งโทรศัพท์มือถือเคลื่อนที่ทำงานภายใต้ระบบ GPS

ขณะเดียวกันสามารถจัดเก็บข้อมูล และประมวลผลและเชื่อมต่อระบบเครือข่ายได้ทุกระบบ และเป็นอุปกรณ์ที่แข็งแรง ทนทาน สามารถตกจากที่สูงลงสู่พื้นคอนกรีตได้ 4 ฟุต สินค้ารุ่นนี้จึงเน้นเจาะกลุ่มธุรกิจที่เน้นทำงานนอกสถานที่

ความเคลื่อนไหวของโมโตโรล่า บริษัทยักษ์ใหญ่สื่อสารโทรคมนาคมที่มีอายุกว่า 80 ปี ได้เขย่าโครงสร้างใหม่เพื่อให้ระบบการทำงานมีความคล่องตัว โดยมีเป้าหมายสูงสุดคือการสร้างผลกำไรกลับสู่องค์กร

เรื่องราวใหม่ๆ ของโมโตโรล่าจะเริ่มต้นอีกครั้ง และไปพร้อมๆ กับวิกฤติของสหรัฐอเมริกาที่คาดเดาลำบากว่าจะเป็นเช่นใดต่อไป

ขอบคุณ : manager.co.th

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น